อุดรูรั่วทางการเงินด้วยประกันแบบต่างๆ (Life insurance 101)
จากบทความที่แล้ว ทางเราทีมงาน Financial Operation ได้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับคำศัพท์เบื้องต้นเกี่ยวกับประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหลัก สัญญาเพิ่มเติม จำนวนเงินเอาประกันภัย ไปจนถึงการเวนคืนกรมธรรม์ออกมาเป็นเงินก้อน และการกู้เงินโดยใช้กรมธรรม์ค้ำประกัน ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับประกันชีวิตให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย
จากที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องของพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) ว่าประกันฯเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในส่วนฐานของพีระมิด มีหน้าที่หลักคือการป้องกันหรือถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) เพื่อปกป้องความมั่งคั่งที่เราสะสมมาอย่างยากลำบากไม่ให้สูญหายไปจากเหตุไม่คาดฝันอย่างเช่น อุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยร้ายแรง นอกจากนี้ ยังเป็นหลักประกันให้กับคนที่เรารักในยามที่เราจากไปด้วย แต่พอมองดูในตลาดก็พบกับประกันหลากหลายรูปแบบ จนทำให้สับสน ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี สรุปแล้วประกันมีกี่แบบ ? ความเสี่ยงที่พูดกันคืออะไรบ้าง ? เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลยครับ
การทำประกันเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของลูกค้าหรือผู้เอาประกัน (Risk Owner) ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ไปยังบริษัทประกันซึ่งจะเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงนั้นไว้ (Risk Taker) โดยบริษัทจะรับประกันลูกค้าเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะเฉลี่ยภัยจากการรับประกันนั่นเองครับ
การถ่ายโอนความเสี่ยงโดยการทำประกันก็คือ การที่เรายอมที่จะจ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นเงินที่เราพิจารณาแล้วว่าสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน และมีกำหนดระยะเวลาชำระที่แน่นอน เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดเราจะได้ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น เนื่องจากบริษัทได้รับประกันว่าจะรับผิดชอบให้แล้ว
ความเสี่ยงที่พูดถึงกันอาจหมายถึง ความน่าจะเป็นที่ผู้เอาประกันอาจเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ดังนั้น ในการทำประกันจึงมีการถามข้อมูลต่างๆ เช่น อายุ อาชีพ หน้าที่การงาน รวมถึงอาจมีการตรวจสุขภาพนั่นเอง ซึ่งชีวิตเราอาจมีความเสี่ยงได้หลายรูปแบบ เช่น หากผู้เอาประกันเป็นคนหารายได้หลักของครอบครัว ความเสี่ยงอาจเป็นการเกิดอุบัติเหตุจนทุพพลภาพ หรือการเสียชีวิตโดยไม่คาดคิด ทันใดนั้นคนข้างหลังก็จะถูกทิ้งให้ต้องลำบากกับภาระด้านการเงินต่างๆที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเทอมลูก ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรืออาจรวมถึงภาระหนี้สินต่างๆที่เคยกู้กันไว้ หากผู้เอาประกันยังอยู่ในวัยทำงานแต่เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว อาจทำให้คุณตกงาน ขาดรายได้ รวมไปถึงต้องนำเงินเก็บมาเป็นค่ารักษาพยาบาลที่ไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือไม่ นับวันค่ารักษาพยาบาลก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นจนยากที่จะเตรียมพร้อมไว้ด้วยเงินสำรองจากการเก็บเงินตามปกติ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่ละครั้งอาจหมดเงินเป็นหลักแสนถึงหลักล้านได้ภายในไม่กี่วัน การขายบ้าน ขายรถ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอกับค่ารักษาในโรคที่คุณกำลังเจ็บป่วยอยู่ก็เป็นได้ หรือในกรณีของคนโสด ถ้าหากไม่มีการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อมีชีวิตยืนยาวจนใช้เงินที่เก็บไว้หมดลงก่อน ก็อาจจะทำให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายนั้นลำบากได้ เหตุผลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่มาของความจำเป็นในการถ่ายโอนความเสี่ยงด้วยประกันชีวิตและประกันสุขภาพนั่นเอง
ในส่วนของประกันชีวิตจะสามารถแบ่งได้ 6 แบบ ที่เป็นสัญญาหลัก มีทั้งแบบชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ (แบบออมทรัพย์) และเงินได้ประจำ (แบบบำนาญ) ซึ่งมีรายละเอียดและความเหมาะสมแตกต่างกัน โดยส่วนมากแล้วจะเป็นสัญญาแบบเบี้ยคงที่ตามอายุ นั่นคือยิ่งซื้อตอนที่อายุน้อย ยิ่งจ่ายเบี้ยได้ถูกกว่า นอกจากนี้ เรายังสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติม พ่วงไปกับสัญญาหลักได้ เช่น ประกันทุพพลภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ และประกันโรคร้ายแรง ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นแบบเบี้ยปรับขึ้นตามอายุ ดังที่ได้เคยอธิบายไว้ในบทความที่แล้วครับ
1. ประกันแบบชั่วระยะเวลา (Term insurance) เป็นแบบประกันที่มีเบี้ยต่ำที่สุดโดยได้รับความคุ้มครองสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ แต่จะคุ้มครองชีวิตแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งทุกปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเพียงชั่วคราว ในงบที่จำกัด เช่น หัวหน้าครอบครัวที่กำลังรับภาระผ่อนบ้าน เรื่องการบริหารเงินก็ลำบากอยู่แล้ว จึงต้องการมีประกันชีวิตที่เบี้ยต่ำแต่ความคุ้มครองสูงไว้เป็นแผนรองรับเผื่อในกรณีที่จากไป คนข้างหลังจะได้ไม่ต้องกังวลกับหนี้บ้านที่มีอยู่ และมีแพลนว่าเมื่อผ่อนบ้านเสร็จแล้วจะไม่ต้องการประกันเล่มนี้อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ประกันแบบชั่วระยะเวลานี้จะไม่เหมาะกับการเป็นสัญญาหลักที่จะพ่วงสัญญาเพิ่มเติม เช่น สัญญาสุขภาพ เนื่องจากหากสัญญาหลักจบลง จะไม่สามารถต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมได้อีกต่อไป
2. ประกันแบบตลอดชีพ (Whole life insurance) จะมีการจ่ายเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี หรือ 20 ปี แต่ความคุ้มครองจะยาวนานจนแทบจะเรียกได้ว่าตลอดชีวิต อาจคุ้มครองจนถึงเมื่อผู้เอาประกันมีอายุ 99 ปี ประกันแบบตลอดชีพจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองระยะยาว หรือต้องการให้เป็นกองมรดก นอกจากนี้ ยังเหมาะกับการเป็นสัญญาหลักเพื่อซื้อสัญญาเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากความคุ้มครองที่ยาวนาน ทำให้สามารถต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมไปได้จนหมดอายุของสัญญาหลัก เช่นเมื่อผู้เอาประกันอายุ 99 ปี หรือตามข้อตกลงของบริษัท
3. ประกันแบบสะสมทรัพย์ (Endowment insurance) จะเน้นด้านความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมกับการออมทรัพย์ โดยมักมีระยะเวลาคุ้มครอง 10–30 ปี และมีระยะจ่ายเบี้ยสั้นกว่าช่วงระยะเวลาคุ้มครอง เช่น จ่ายเบี้ย 20 ปี และจะได้รับเงินตามสัญญาเมื่อสิ้นปีกรรมธรรม์ที่ 25 ประกันแบบนี้จะเหมาะสำหรับการเก็บเงินก้อนเพื่อเป้าหมายระยะกลางถึงยาว เช่น เป็นทุนการศึกษาให้ลูก หรือเป็นเงินก้อนสำหรับทริปท่องเที่ยวหลังเกษียณ โดยส่วนมากมักมีผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และยังได้รับความคุ้มครองชีวิตอีกด้วย แต่ก็ยังคงไม่เหมาะกับการเป็นสัญญาหลักที่จะพ่วงสัญญาเพิ่มเติมด้วยเหตุผลเดียวกับประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
4. ประกันแบบเงินได้ประจำ (Annuity insurance) จะมีลักษณะเหมือนกับเงินบำนาญ คือ มีการจ่ายผลประโยชน์ออกมาเป็นงวดๆตามระยะเวลาที่กำหนด โดยส่วนมากมักมีระยะเวลาชำระเบี้ยจนถึงอายุที่เริ่มจ่ายเงินผลประโยชน์ เช่น ชำระเบี้ยจนกระทั่งผู้เอาประกันมีอายุได้ 55 หรือ 60 ปี แล้วแต่แผนที่ซื้อ และได้รับเงินหลังจากปีสุดท้ายที่จ่ายเบี้ยไปอีก 20 ปี หรือ 30 ปี หรือแล้วแต่กำหนดตามสัญญา ประกันแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีเงินได้ที่แน่นอนในวัยชรา เพื่อใช้เป็นค่าจ่ายในการดำรงชีวิตในยามที่ไม่ได้มีรายได้จากการทำงานแล้ว
5. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment linked insurance) ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยินในชื่อของ ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (Universal Life) หรือ ยูนิตลิงค์ (Unit Linked) ซึ่งมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยแบบแรก ทางบริษัทจะบริหารการลงทุนให้เอง มักจะมีการการันตีผลตอบแทนในระดับหนึ่ง ส่วนแบบหลังผู้เอาประกันจะบริหารการลงทุนเอง แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย ประกันชีวิตควบการลงทุนนี้มักจะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันสะสมทรัพย์ แต่อย่างที่อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุน” ประกันแบบนี้จะมีความเสี่ยงจากการขาดทุนของการลงทุนด้วย
6. ประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ (Life insurance for senior) คือประกันชีวิตที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถทำประกันได้ โดยที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ช่วงอายุที่รับประกันจะแตกต่างไปตามแต่บริษัทประกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 50-70 ปี และคุ้มครองยาวไปจนถึง 80-90 ปี หรือตลอดชีพ ขึ้นอยู่กับแบบประกัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่อยากมีเงินก้อนสุดท้ายเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน และไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหลังเมื่อจากไป
ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า เราสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาประกันชีวิตที่เป็นสัญญาหลักได้ ส่วนของ ประกันทุพพลภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันชดเชยรายได้ และประกันโรคร้ายแรง จะรวมอยู่ในสัญญาเพิ่มเติม โดยปกติ สัญญาเพิ่มเติมจะมีลักษณะเป็นสัญญาแบบปีต่อปีแนบท้ายไปกับสัญญาหลัก การจะต่ออายุหรือไม่ขึ้นกับผู้เอาประกันและบริษัท ในบางครั้งบริษัทอาจพิจารณาไม่ต่อสัญญาได้ครับ สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อซื้อประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรง คือ ถ้าหากมีโรคที่เป็นมาก่อนแล้ว อาจมีการพิจารณาเพิ่มเบี้ยประกัน หรือมีการยกเว้นความคุ้มครองในส่วนของโรคที่เป็นมาก่อน ไปจนถึงการปฏิเสธความคุ้มครองเลยก็ได้ ดังนั้น ควรซื้อประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงในช่วงที่ยังสุขภาพดี เนื่องจากหากมีโรคที่เป็นมาก่อน อาจซื้อประกันคุ้มครองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายในการเข้าโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยครั้งหนึ่ง อาจสูงมากจนจ่ายไม่ไหว หรือถึงแม้จะกัดฟันจ่ายได้ การมองดูเงินที่เก็บสะสมมาอย่างยากลำบากถูกดึงออกไปในครั้งเดียวก็ย่อมจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และแผนการอื่นๆในชีวิตที่ได้เตรียมไว้ก็อาจจะต้องสะดุดลงอีกด้วย ในส่วนของประกันอุบัติเหตุ และประกันชดเชยรายได้ ก็สามารถซื้อเพิ่มแนบไปกับสัญญาหลักได้เช่นกัน เพื่อเป็นความอุ่นใจและช่วยประคับประคองชีวิตในเวลาที่ยากลำบากครับ
นอกจากผลประโยชน์ทางตรงของประกัน ซึ่งก็คือเงินคืนตามสัญญาหรือความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมคือการใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษีรายได้บุคคล ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันสุขภาพ และแบบสะสมทรัพย์สามารถลดหย่อนภาษีรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาท ส่วนของประกันแบบบำนาญสามารถลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกสูงสุด 200,000 บาท รวมเป็นสิทธิลดหย่อนได้ถึง 300,000 บาท รายละเอียดในด้านการวางแผนภาษีด้วยสิทธิลดหย่อนอื่นๆจะกล่าวถึงในบทความต่อๆไปครับ
จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ประกันเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดที่มาก เราไม่สามารถแจกแจงได้หมดในบทความนี้เพียงบทความเดียว เนื่องจากประกันแต่ละแบบ ก็มีความเหมาะสมกับคนต่างๆกัน คนทำงานออฟฟิศก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าคนที่ทำงานในโรงงาน หรือบางคนเป็นโสดไม่มีคนข้างหลังให้ต้องเป็นห่วง ก็อาจไม่ต้องมีความคุ้มครองชีวิตที่สูงก็ได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้คำนึงถึงเป้าหมายที่แท้จริงในการซื้อประกัน ซึ่งเป็นการปิดความเสี่ยงเหมือนกับการอุดรูรั่วทางการเงินของเรานะครับ ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อความคุ้มค่าหรือผลตอบแทนที่สูง เพราะประกันถ้าใช้อย่างคุ้มค่าหมายความว่าเราต้องเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตนั่นเอง คงไม่มีใครทำประกันแล้วอยากให้เกิดเรื่องร้ายแรงเพื่อที่จะได้เงินออกมาจริงไหมครับ ส่วนหน้าที่ในการเพิ่มความมั่งคั่งของเราให้งอกเงยด้วยผลตอบแทนที่สูงนั้น เป็นของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม และสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ อย่างทองคำ น้ำมัน ที่จะแนะนำให้รู้จักกันในบทความต่อๆไปครับ